Table of Contents
สัญญาณกันขโมย
ถ้าพูดถึงบ้าน ในความรู้สึกของทุกคน บ้านคือที่อยู่อาศัยที่ให้ความปลอดภัย ให้ความอบอุ่น ให้ความสบายใจเมื่อได้นอนหลับอาศัยภายในบ้าน หลังจากที่เราเหนื่อยล้าในการทำงานมาแต่ละวัน และแน่นอนทุกคนต่างก็อยากนอนหลับหมดกังวลใจกับปัญหาขโมย โจร ที่จะงัดแงะเข้ามาภายในบ้านเของเรา
สิ่งหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหา และช่วยให้เราหมดความกังวลใจของขโมยเข้าบ้าน และช่วยป้องกันทรัพย์สินสูญหาย นั่นคือ สัญญาณกันขโมย ซึ่งเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าและเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สามารถป้องกันทรัพย์สินภายในบ้านหรือช่วยปกป้องอันตรายจากชีวิตเราได้
เรามาทำความรู้จักกับสัญญาณกันขโมย ว่ามันคืออะไร มันมีหน้าที่การทำงานอย่างไร และระบบเป็นอย่างไร เพื่อที่ทุกคนจะได้เข้าใจและตัดสินใจง่ายขึ้นในการที่จะติดสัญญาณกันขโมย
สัญญาณกันขโมยคืออะไร?
สัญญาณกันขโมย เปรียบเสมือนตัวแทนรักษาความปลอดภัย (รปภ.) 24 ชั่วโมง ที่ช่วยสอดส่องดูแลความปลอดภัยในทรัพย์สิน และบ้านของเรา เป็นระบบที่สามารถแจ้งเหตุผ่านทางโทรศัพท์มือถือ และโทรศัพท์บ้านและในขณะเดียวกันสามารถส่งเสียงไซเรนได้ดังถึง 110 เดซิเบล เพื่อให้ รปภ. หรือเพื่อนบ้านได้ยินสัญญาณการแจ้งเตือนบุกรุก อีกทั้งยังช่วยให้ผู้บุกรุกเปลี่ยนใจที่จะไม่เข้ามาภายในบ้านคุณอีกด้วย
ระบบสัญญาณกันขโมยคืออะไร?
ระบบสัญญาณกันขโมย หลายคนอาจมมองว่าเป็นเรื่องที่วับซ้อน แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นระบบที่ติดตั้งง่าย ใช้เทคโนโลยีของอุปกรณ์ตรวจจับความเคลื่อนไหว (PIR) ซึ่งประกอบไปด้วย
-อุปกรณ์ตรวจจับผู้บุกรุก หรือตัวตรวจจับความเคลื่อนไหว (Monitor detector)
-เซนเซอร์ประตูหน้าต่าง (Door Window Detector)
-อุปกรณ์ที่ส่งสัญญาณเตือนภัย (ไซเรน)
-ชุดควบคุมการทำงาน (Control Panel)
โดยทั้งหมดนี้จะทำหน้าที่ในการประมวลผล และส่งสัญญาณให้เจ้าของบ้านได้รับรู้เมื่อมีผู้บุกรุก และอุปกรณ์นี้จะติดตามพื้นที่ที่ต้องการตรวจจับเช่น เซนเซอร์หน้าสัมผัสแม่เหล็ก ปุ่มตกใจ เซนเซอร์ป้องกันการทำลายกระจกที่เชื่อมต่อกับแผงวงจรในการควบคุม เมื่อเซนเซอร์นี้ได้ตรวจพบความผิดปกติก็จะทำการส่งเสียงไซเรน และสัญญาณไปยังมือถือให้เจ้าของบ้าน ได้รับทราบ
โดยปกติแล้วสัญญาณกันขโมย จะติดตั้งไว้บริเวณห้องโถง ห้องรับแขก บันได ทางเดิน หรือพื้นที่ที่คาดว่าผู้บุกรุก จะใช้เป็นเส้นทางเข้ามาภายในตัวบ้าน ซึ่งระบบจะทำการตรวจจับความเคลื่อนไหว และอุณหภูมิของผู้บุกรุก สามารถเชื่อมต่อกับกล้องวงจรปิด เพื่อให้เราได้สามารถเห็นความเคลื่อนไหวของขโมยได้อีกด้วย
ขั้นตอนการทำงานของระบบสัญญาณกันขโมยทำงานอย่างไร?
ส่วนใหญ่แล้วระบบสัญญาณกันขโมยจะมีอยู่หลายประเภท แต่ส่วนใหญ่แล้วหลักการขั้นตอนการทำงานจะไม่แตกต่างกันมากนัก ซึ่งเราจะมาดูหลักการทำงานหลักๆของระบบสัญญาณกันขโมยดังนี้
-เซนเซอร์ถูกกระตุ้นโดยผู้บุกรุก : เมื่อระบบถูกเปิดการใช้งาน เซนเซอร์จะตรวจจับความเคลื่อนไหว เมื่อมีผู้บุกรุกเข้ามา แล้วจะสั่งงานให้ชุดควบคุมหลักทราบ
-ส่งเสียงการแจ้งเตือนไปยังแผงควบคุม : อุปกรณ์ทั้งหมดจะถูกเชื่อมต่อกับแผงควบคุม และเมื่อเซนเซอร์ถูกกระตุ้น แผงควบคุมจะรับรู้ทันที
-เสียงไซเรน : เมื่อชุดควบคุมได้รับคำสั่งก็จะส่งเสียงไซเรนให้ดังขึ้น เพื่อส่งเสียงให้ รปภ. เพื่อนบ้าน หรือผู้บุกรุกได้รับทราบว่ามีสัญญาณเตือนภัยเกิดขึ้น ซึ่งช่วยให้ผู้บุกรุกเปลี่ยนใจในการเข้ามาขโมยทรัพย์สินภายในบ้านของเรา เป็นการป้องกันและปรามผู้บุกรุกในเวลาเดียวกัน
-ส่งการแจ้งเตือน : หลังจากที่ส่งเสียงไซเรนการแจ้งเตือนแล้ว ยังส่งข้อความการแจ้งเตือนไปยังหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่เราได้ทำการป้อนคำสั่งและติดตั้งไว้ ซึ่งในปัจจุบันสามารถรองรับได้กับแอปพลิเคชันต่างๆ รวมถึง สมาร์ทโฟน ด้วยเช่นกัน
แล้วระบบสัญญาณกันขโมยมีกี่แบบ? เปรียบเทียบข้อดี และข้อเสีย?
ระบบสัญญาณกันขโมย มี 2 แบบ ได้แก่ ระบบไร้สาย และระบบเดินสาย
ระบบไร้สาย : ทำงานโดยเชื่อมต่อด้วยระบบสัญญาณวิทยุและเซนเซอร์ใช้แบตเตอร์รี่ โดยผ่านแผงควบคุมและเซนเซอร์ ระบบไร้สายนี้เหมาะกับบ้าน หรือคอนโดทั่วไปที่สร้างสำเร็จแล้ว และมีพื้นที่จำกัด ไม่มากนัก
ข้อดีของระบบไร้สาย
ติดตั้งง่ายไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องขุดเจาะพื้นเพื่อเดินสายไฟ ยืดหยุ่นการใช้งานให้เหมาะสมกับสถานที่ สามารถเปลี่ยนตำแหน่งของเซนเซอร์ได้ ลดอัตราการเสี่ยงจากฟ้าผ่า ติดตั้งบำรุงดูแลรักษา สะดวกและรวดเร็ว และสามารถติดตั้งกับอาคารที่สร้างเสร็จแล้ว โดยไม่กระทบต่อตัวอาคาร มีแบตเตอรี่ในตัวสามารถทำงานได้แม้กระทั่งไฟดับ
ข้อเสียของระบบไร้สาย
ก็มีเช่นกันคือ ต้องคอยเปลี่ยนแบตเตอรี่ทุกๆ 6-12 เดือน อุปกรณ์เสริมค่อนข้างน้อยกว่าเพราะต้องออกแบบให้ประหยัดพลังงาน และพื้นที่การทำงานมีจำกัด เนื่องจากระยะทางในการส่งสัญญาณของอุปกรณ์ไร้สายมีจำกัดเช่นกัน
ระบบแบบเดินสาย : เป็นระบบที่แผงควบคุมและอุปกรณ์เซนเซอร์เชื่อมต่อด้วยสาย ในระบบมีเดินสายแบบนี้เหมาะกับบ้านที่กำลังปลูกสร้าง และมีพื้นที่บ้านที่ค่อนข้างกว้างเกินรัศมีที่ระบบไร้สายจะทำงานได้
ข้อดีของระบบเดินสาย
สามารถติดตั้งในพื้นที่ที่มีบริเวณกว้างได้ ไม่มีข้อจำกัดเรื่องระยะทางในการส่งสัญญาณ มีชนิดของอุปกรณ์เสริมให้เลือกมากกว่า การบำรุงรักษาหลังการติดตั้งน้อยกว่าระบบแบบไร้สาย และค่าอุปกรณ์จะถูกกว่าระบบไร้สาย
ข้อเสียของระบบเดินสาย
ต้องใช้สายเคเบิลและเสาไฟในการติดตั้ง ซึ่งทำให้ยากต่อการติดตั้งเอง ต้องมีช่างผู้ชำนาญการมาติดตั้งให้ และไม่สามารถทำงานได้เมื่อระบบไฟฟ้าดับ ไม่สะดวกต่อการใช้งานเพราะต้องทำงานผ่านคีย์แพดอย่างเดียว อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการติดตั้งสูงกว่าระบบไร้สาย
เป็นยังไงบ้าง เมื่อเรารู้แล้วว่าระบบสัญญาณกันขโมยคืออะไร และมีระบบการทำงานอย่างไร มีข้อดีข้อเสีย และขีดจำกัดในการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป เราก็สามารถที่จะเลือกระบบสัญญาณกันขโมยที่เข้ากับที่พักอาศัยของเราให้ได้มากที่สุด เพื่อความปลอดภัยในทรัพย์สิน และชีวิตของเรา